นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมาหลายสมัย
นายนิพนธ์ เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงเลื่อย เช่น โรงเลื่อยจักรไทยพูนสิน บ.ไทยประสิทธิ์ทำไม้ และ บ.ชนาพันธ์ นับเป็นแหล่งทุนเก่าแก่รายหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพี่ชายของศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ภรรยาสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย
นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายประสิทธิ์ และนางตุ๊ พร้อมพันธุ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นได้ไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ โดยเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่บาร์เกอร์คอลเลจ ประเทศออสเตรเลีย จนได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2515
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังไม่ทันได้เข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย บิดาได้ขยายธุรกิจการลงทุนของครอบครัวในหลายกิจการ เช่น โรงเลื่อย การค้าไม้ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค้าขายที่ดินที่มีจำนวนมากในจังหวัดภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์จึงถูกเรียกตัวกลับให้มาทำงานสืบต่อธุรกิจขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี การกลับเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัว ทำให้นายนิพนธ์ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางธุรกิจจากการบริหารธุรกิจค้าไม้ของครอบครัว เช่น โรงเลื่อยจักรไทยพูนสิน บริษัทไทยประสิทธิ์ค้าไม้ และธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทชนาพันธ์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ทำโครงการบ้านเดี่ยว “ไม้ล้อมเรือน” เป็นโครงการแรกย่านสวนหลวง ร.9 นอกจากนี้ยังได้ดูแลธุรกิจก่อสร้าง กระทั่งสามารถเข้าไปแข่งขันสัมปทานในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ ทั้งในประเทศลาว กัมพูชา และพม่า
ด้านชีวิตส่วนตัว นายนิพนธ์ สมรสกับนวนิตย์ ไชยกูล มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน คือ ชนาธิป ภากมล และ ธีร์พร พร้อมพันธุ์ ปัจจุบันนายนิพนธ์เป็นหม้ายเนื่องจากนางนวนิตย์ ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
นายนิพนธ์ เข้าสู่วงการเมืองได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งอีกหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิพนธ์ถูก พรรคชาติไทย ในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โจมตีกรณีเกิดทุจริตในการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 พร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น นายนิพนธ์ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่พรรคฝ่ายค้านยังคงนำมาเป็นประเด็นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเหตุให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาก่อนมีการลงมติ
แม้ว่านับตั้งแต่ถูกโจมตีในปี พ.ศ. 2537 นายนิพนธ์จะไม่เคยถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับกรณี ส.ป.ก. 4-01 แต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงมีการนำกรณีดังกล่าวมาอ้างอิง เพื่อโจมตีทางการเมืองต่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาโดยตลอด
ในปี พ.ศ. 2540 หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และพรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาล นายนิพจน์ได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2551 นายนิพนธ์ได้กลับมาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อีกครั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ในการดำรงตำแหน่งครั้งนี้นายนิพนธ์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอีกครั้ง เมื่อพยายามขับรถฝ่าคนกลุ่มเสื้อแดงที่หน้ากระทรวงมหาดไทย แต่ถูกรุมทุบรถและทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552
ต่อมา นายนิพนธ์ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เหตุเนื่องจากไม่พอใจเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้นายนิพนธ์ให้การสนับสนุน พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย แต่นายอภิสิทธิ์ ให้การสนับสนุน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในที่สุด